วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ต่อเติมห้องครัวไทย แบบโปร่งหรือแบบทึบดี?

ครอบครัวที่ชอบทำอาหารแบบไทยๆ คงไม่พ้นการประกอบอาหารที่ต้องผัด ทอด ก่อให้เกิด เสียง กลิ่น ควัน แผ่ฟุ้งกระจาย เมนูเหล่านี้อาจไม่เหมาะกับพื้นที่ปรุงอาหารในบ้านที่มีขนาดเล็กและระบายอากาศได้น้อย เจ้าของบ้านจึงมักเริ่มคิดต่อเติมครัว แยกออกมาจากตัวบ้าน ตามด้วยคำถามต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ  “จะต่อเติมครัวไทยแบบทึบหรือแบบโปร่งดี ?”

ครัวไทย “แบบโปร่ง” กับ “แบบทึบ”
       ก่อนอื่นขอเล่าถึงการต่อเติมครัว 2 แบบนี้ว่าต่างกันอย่างไร การต่อเติมครัวแบบทึบโดยทั่วไปจะต่อเติมขึ้นมาเป็นห้อง มีผนังเต็มล้อมรอบโดยเจาะช่องเปิดตามความเหมาะสม พร้อมหลังคาครอบมิดชิด ส่วนครัวแบบโปร่งจะมีจุดเด่นตรงความโปร่งโล่ง จึงมักทำแผงระแนงไม้/ไม้เทียมแทนผนัง บางทีอาจเลือกทำผนังทึบเฉพาะช่วงล่าง ส่วนด้านบนปล่อยโล่งหรือทำเป็นแผงระแนงเพื่อความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ในส่วนของหลังคา อาจทำติดลอยไว้กับผนังบ้านเดิม เลือกซื้อกันสาดสำเร็จรูปมาติด หรือจะใช้โครงสร้างเสาส่วนต่อเติมรับหลังคาเช่นเดียวกับครัวแบบปิด  ทั้งนี้ครัวแบบเปิดสำหรับบางบ้านอาจทำง่ายๆ เพียงแค่ติดหลังคากันสาดและก่อเคาน์เตอร์ครัว หรือถ้าจะให้ง่ายกว่านั้นคือซื้อชุดครัวสำเร็จรูปมาติดตั้งเลยก็ได้

ตัวอย่างการต่อเติมครัวแบบโปร่งและแบบทึบ

ครัวแบบโปร่ง เน้นความโล่ง
       จะเห็นได้ว่าครัวแบบเปิดเป็นรูปแบบที่เน้นความโปร่งโล่ง กลิ่นควันและความอับชื้นต่างๆ จึงระบายออกไปได้ง่าย สามารถฉีดน้ำล้างทำความสะอาดได้ (โดยต้องมีทางระบายน้ำรองรับ) วัสดุที่ใช้มักมีน้ำหนักเบา ทั้งยังสร้างได้รวดเร็วง่ายดายกว่าเมื่อเทียบกับครัวแบบปิด แต่ในขณะเดียวกัน ความโปร่งของครัวแบบเปิดอาจทำให้ต้องผจญกับ น้ำฝน ฝุ่นและสิ่งปรกต่างๆ ที่สาดซัดเล็ดรอดเข้ามาได้ง่าย ทั้งยังต้องระวังป้องกันไม่ให้สัตว์เล็กสัตว์น้อย อย่างแมลง นก หนู  อาจรวมถึงแมวหรือสุนัขตัวเล็กๆ เข้ามาก่อกวนภายในห้องครัวด้วย (ในส่วนนี้อาจใช้ ตะแกรง มุ้งลวด ช่วยป้องกันได้บ้าง)

       จะเห็นว่าการทำครัวแบบเปิดจะต้องควบคุมเรื่องความสะอาดและป้องกันสิ่งปนเปื้อนจากภายนอกให้ดี  ซึ่งสำคัญมากเพราะเป็นพื้นที่ประกอบอาหาร  อุปกรณ์ต่างๆ จึงควรมีที่เก็บมิดชิด หรือเจ้าของบ้านอาจจะเลือกใช้ครัวแบบเปิดเฉพาะตอนประกอบอาหารและล้างภาชนะเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์ทั้งหมดนำไปเก็บไว้ในบ้านแทนก็ย่อมได้เช่นกัน นอกจากนี้ ครัวแบบโปร่งซึ่งระบายอากาศได้สะดวกย่อมหมายความว่า กลิ่น ควัน รวมถึงไอน้ำมันจากการทำอาหารจะกระจายไปถึงเพื่อนบ้านได้ง่าย นับเป็นอีกเรื่องที่ต้องระวังเช่นกัน


ครัวแบบทึบ เน้นมิดชิด
       สำหรับห้องครัวแบบปิดซึ่งมีผนังมิดชิดจะมีข้อดีข้อเสียเป็นคู่ตรงข้ามกับห้องครัวแบบเปิด ไม่ว่าจะเป็น การใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมากกว่าจึงมีโอกาสทรุดตัวเร็วกว่า (เมื่อเทียบกับโครงสร้างรองรับแบบเดียวกัน) ส่วนเรื่องของระบบระบายอากาศ อาจต้องพึ่งอุปกรณ์ช่วยอย่างเครื่องดูดควันหรือพัดลมระบายอากาศ นอกจากนี้การสร้างห้องครัวแบบทึบจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าห้องครัวแบบโปร่ง ด้วยปริมาณวัสดุ โครงสร้าง และการเตรียมงานระบบที่มากกว่า

       สำหรับข้อดีของครัวแบบปิดที่มีผนังมิดชิดก็คือ สามารถป้องกันสิ่งสกปรกและสิ่งไม่พึงประสงค์จากภายนอกได้ดี   รวมถึงการใช้เครื่องดูดควันพร้อมปล่องระบายอากาศ ยังช่วยป้องกันกลิ่นควันจากการประกอบอาหารไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้านได้ง่ายด้วย นอกจากนี้ผนังที่มิดชิดของครัวแบบปิดยังให้ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัว รวมถึงมีพื้นที่ติดตั้งชั้นเก็บของได้มาก ในเรื่องการทำความสะอาดครัวแบบปิดควรใช้วิธีเช็ดถูเอาสิ่งสกปรกออก ไม่ควรใช้วิธีฉีดน้ำล้างอย่างครัวแบบเปิด และควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ

การติดพัดลมดูดอากาศด้านข้างห้องครัวส่วนต่อเติม เพื่อช่วยระบายกลิ่น/ควัน


ตู้ลอยติดผนังเหนือเคาน์เตอร์สำหรับเก็บของในห้องครัวแบบปิด
ขอบคุณภาพ : www.banidea.com
       อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าของบ้านตัดสินใจเลือกต่อเติมครัวตามแบบที่ตนเองต้องการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบบเปิดหรือแบบปิด มีเรื่องสำคัญที่ห้ามละเลยคือ โครงสร้างที่ถ่ายน้ำหนักลงพื้นของครัวส่วนต่อเติม จะต้องแยกจากกันกับโครงสร้างบ้านเดิม เพราะส่วนต่อเติมซึ่งมักลงเข็มสั้นนั้นโดยปกติจะทรุดตัวเร็วกว่าตัวบ้านเดิม จึงควรให้การทรุดตัวเป็นอิสระจากกัน  ไม่ดึงรั้งกันจนกลายเป็นปัญหาบ้านทรุดแบบเอียงและเกิดการฉีกขาดของโครงสร้าง ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขได้ยากมาก

เลือกขนาดมิเตอร์ให้เหมาะกับบ้าน

มิเตอร์ไฟฟ้านี้ถือเป็นสมบัติของการไฟฟ้าฯ เมื่อเรายกเลิกการใช้บริการเราก็จะได้เงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืน จากที่ผมเกริ่นไปในตอนต้น ว่าค่าใช้จ่...